วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ซอฟต์แวร์

ซอฟต์แวร์
       โปรแกรมที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ แบ่งตามหน้าที่และการทำงานได้หลายประเภท ดังนี้ 
 1.ซอฟต์แวร์ระบบ (system  software)
ซอฟต์แวร์ระบบเป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ทั้งหมดในเครื่องให้ติดต่อถึงกันได้ รวมทั้งระบบปฏิบัติการด้วย เมื่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์จะตรวจสอบการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังส่วนต่างๆ ของระบบเรียกว่า การโพสต์ (POST : power on self test ) เมื่อระบบพร้อมจะอ่านโปรแกรมของระบบที่บันทึกไว้ในหน่วยความจำรอม เรียกว่า ROM – BIOS ( basic input output system)  จะตรวจสอบระบบอุปกรณ์พื้นฐานที่ติดตั้งไว้ เช่น แผงแป้นอักขระ เมาส์ เครื่องพิมพ์ จอภาพ ถ้าระบบพร้อมก็จะอ่านโปรแกรมระบบปฏิบัติการ (operating system หรือ OS) ที่เขียนไว้ในแผ่นจานข้อมูล (disk) เข้ามาในหน่วยความจำแรมแล้วเริ่มการทำงาน
          2.ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ
                ระบบปฏิบัติการจัดเป็นโปรแกรมแรกที่คอมพิวเตอร์อ่านจากหน่วยความจำรองเข้ามาในหน่วยความจำหลักโดยเปรียบเทียบกับโปรแกรมไบออส ระบบปฏิบัติการได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและมีหลายระบบได้แก่
                2.1 ระบบปฏิบัติการแบบดอส เป็นโปรแกรมระบบปฏิบัติการรุ่นแรกๆ ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เริ่มพัฒนาโดยบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ เรียกว่า แอปเปิลดอส ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แอปเปิลซึ่งพัฒนามาเป็นแมคอินทอส ต่อมาบริษัทไอบีเอ็มพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ออกมาแข่งกับเครื่องแอปเปิลเรียกว่า เครื่องพีซีคอมพิวเตอร์ ( PC : personal computer) และว่าจ้างบริษัทไมโครซอฟต์พัฒนาระบบปฏิบัติการขึ้นมา เรียกว่า ไอบีเอ็มดอส ต่อมาบริษัทไมโครซอฟต์พัฒนาระบบปฏิบัติการของตนเองขึ้นมาใหม่ตั้งชื่อว่า เอ็มเอส-ดอส (MS-DOS) และจำหน่ายให้กับผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป คำว่า ดอส (DOS) ย่อมาจาก disk operating system ระบบปฏิบัติการแบบดอสเป็น text mode การสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานต้องพิมพ์คำสั่งให้ถูกต้องตามวากยสัมพันธ์ (syntax) ของระบบ การแสดงผลบนจอภาพเป็นข้อความส่วนกราฟิกต้องใช้โปรแกรมเฉพาะในการสร้างภาพและยังเป็นภาพที่มีความละเอียดต่ำ (low resolutions) ในวินโดวส์ XP สามารถออกไปยังดอสโหมดได้โดยคลิกที่ปุ่ม Start >Run แล้วพิมพ์ CMD ในกล่อง คลิกปุ่ม OK กลับสู่วินโดวส์โดยพิมพ์คำสั่ง EXIT
               2.2 ระบบปฏิบัติการแบบวินโดวส์ (Windows) เมื่อมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์พีซีมากขึ้นประกอบกับระบบเครื่องได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะสูงขึ้น บริษัทไมโครซอฟต์จึงพัฒนาระบบปฏิบัติการแบบดอสเป็นระบบปฏิบัติการแบบวินโดวส์ (คำว่าวินโดวส์เป็นชื่อเฉพาะของโปรแกรมเหมือนการเรียกชื่อคน ไม่ได้แปลว่าหน้าต่างหลายบาน) เปลี่ยนจากการพิมพ์คำสั่งเป็นรูปเล็กๆ แทนคำสั่งวางบนจอแรกของระบบ (desktop) เรียก สัญรูป หรือ icon ผู้ใช้เพียงกดคลิก คลิก ที่สัญรูปเหล่านั้นก็สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ทันที จัดเป็นระบบปฏิบัติการแบบกุย (GUI : Graphical User Interface)
                2.3 ระบบปฏิบัติการแบบ MAC เป็นระบบปฏิบัติการที่บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์พัฒนาต่อจากแอปเปิลดอสมาใช้กับเครื่องแมคอินทอส เรียกว่า MAC OS
ระบบปฏิบัติการแบบ MAC
                2.4 ระบบปฏิบัติการแบบยูนิกซ์ (UNIX) เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยเบลล์ของบริษัท AT&T ในสหรัฐอเมริกา เป็นระบบปฏิบัติการที่ประกอบขึ้นจากโปรแกรมย่อยๆ ที่ทำงานเฉพาะเรื่อง ระบบปฏิบัติการนี้ได้เผยแพร่รหัสต้นฉบับ (source code) ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในราคาถูก ทำให้มีผู้ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมนี้จนมีความสามารถในการทำงานที่หลากหลายรวมเป็นระบบที่มีสมรรถนะในการทำงานสูงมาก ใช้ในเครื่องระดับเมนเฟรม มินิคอมพิวเตอร์และ ไมโครคอมพิวเตอร์ระบบใหญ่ๆ
                2.5 ระบบปฏิบัติการแบบลินุกซ์ (LINUX) พัฒนาโดย Linus Torvalds นักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิด (open system) ที่เผยแพร่โปรแกรมต้นฉบับให้แก่ผู้ซื้อด้วย ทำให้มีผู้พัฒนาเป็นลินุกซ์รุ่นต่างๆ มากมาย เช่น ลินุกซ์ทะเล พัฒนาโดยสถาบันอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือ NECTEC ระบบลินุกซ์เป็นระบบปฏิบัติการแบบกุยเช่นเดียวกับไมโครซอฟต์วินโดวส์
         3.ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (application package program)
                ซอฟต์แวร์ประยุกต์เป็นซอฟต์แวร์สำเร็จที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ใช้งานง่ายขึ้น ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิชาคอมพิวเตอร์มาก่อนก็ใช้งานได้ โดยการทำตามคู่มือที่ให้มากับโปรแกรมโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้ในงานสำนักงานเรียกว่า โปรแกรมสำนักงาน ประกอบด้วยโปรแกรม ต่างๆ ดังนี้
                3.1  ซอฟต์แวร์ประมวลคำ (word processing) เป็นซอฟต์แวร์สำหรับงานพิมพ์เอกสารที่สามารถตรวจแก้บนจอภาพก่อนพิมพ์ทางเครื่องพิมพ์ได้ ตัดคำอัตโนมัติ และมีพจนานุกรมตรวจการสะกดคำให้อย่างอัตโนมัติ แทรกภาพและวัตถุลงในเอกสารได้ วัตถุที่แทรกเช่น Microsoft Equation สำหรับพิมพ์สมการทางคณิตศาสตร์ เลือกแบบอักษรตัวยก (super script ) สำหรับพิมพ์เลขยกกำลัง และตัวห้อย (sub script) สำหรับพิมพ์สมการเคมีได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีเมนูจดหมายเวียนสำหรับสร้างเอกสารส่งให้ผู้รับได้หลายๆ คนในฉบับเดียวกัน
                3.2  ซอฟต์แวร์ตารางทำการ (spread sheet) เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการคำนวณ เช่น การทำบัญชีเบื้องต้น การทำตารางสถิติต่างๆ ตัวซอฟต์แวร์เหมือนสมุดงาน (work book) ขนาดใหญ่ที่มีกระดาษทำการ (work sheet) ให้จำนวนมาก กระดาษแต่ละแผ่นถูกขีดเส้นตามแนวตั้งและแนวนอนออกเป็นตาราง แต่ละช่องของตารางเรียกว่า เซลล์ (cell) แต่ละเซลล์มีชื่อกำกับตามคอลัมน์และแถว ทำให้สั่งการคำนวณได้ มีฟังก์ชันด้านต่างๆ ให้เลือกใช้มากมายสามารถเปลี่ยนชุดข้อมูลเป็นแผนภูมิได้อย่างรวดเร็ว สามารถคัดลอกข้อมูล สูตร และฟังก์ชันจากเซลล์หนึ่งไปวางในเซลล์อื่นๆ ที่มีการทำงานอย่างเดียวกันได้
                3.3  ซอฟต์แวร์ระบบฐานข้อมูล (database management system) หรือ DBMS เป็นซอฟต์แวร์จัดการกับฐานข้อมูล ใช้เก็บข้อมูลเป็นระเบียนข้อมูล (record) ที่กำหนดขนาดและชนิดของเขตข้อมูล (field) ได้ สามารถจัดเรียงข้อมูล ค้นหา สร้าง และออกแบบรายงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลจะเก็บข้อมูลในรูปของตารางข้อมูล (table) ที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ในแฟ้มเดียวกัน เช่น ตารางประวัติส่วนตัวของนักเรียนเก็บข้อมูลเลขประจำตัว ชื่อ นามสกุล และอื่นๆ ตารางผลการเรียนของนักเรียน เก็บเลขประจำตัวและผลการเรียนวิชาต่างๆ เมื่อต้องการสืบค้นข้อมูล เพียงแต่ใส่เลขประจำตัวนักเรียนลงในโปรแกรมก็สามารถแสดงชื่อ นามสกุล และผลการเรียนแต่ละรายวิชาได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเปิดแฟ้มทีละแฟ้ม ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลที่นิยมใช้มีหลายโปรแกรม เช่น ไมโครซอฟต์แอกเซส (Microsoft Access) ออราเคิล (Oracle) มายเอสคิวแอล (My SQL)
                3.4  ซอฟต์แวร์นำเสนอ (presentation) เป็นซอฟต์แวร์ที่เพิ่มเข้ามาในยุคของวินโดวส์ใช้ในการนำเสนอข้อมูล ตัวซอฟต์แวร์ประกอบด้วยภาพนิ่ง (slide) ที่สามารถแทรกเพิ่มได้ภายในภาพนิ่งใช้แทรกข้อความ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์  และสามารถบันทึกเสียงลงได้นำเสนอภาพนิ่งต่อเนื่องเป็นเรื่องได้ดี ในวงการธุรกิจใช้นำเสนอขายสินค้าที่มีทั้งภาพสินค้าและรายละเอียดของสินค้าแต่ละรายการ ใช้นำเสนอสถิติการขาย สถิติการผลิต ในรูปของภาพข้อความและแผนภูมิ ด้านการศึกษาใช้สร้างสื่อประกอบการเรียนการสอนวิชาต่างๆ
                3.5  ซอฟต์แวร์กราฟิกและมัลติมีเดีย (graphics and multimedia software) เป็นโปรแกรมที่ใช้ออกแบบและวาดภาพ หรือใช้ตกแต่งภาพที่มีอยู่เดิม เช่น โปรแกรม Paint โปรแกรม Microsoft Picture Manager โปรแกรม Adobe Photoshop  นอกจากนี้ยังสามารถนำภาพที่ตกแต่งแล้วไปสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหว เช่น โปรแกรม Windows Movies Maker โปรแกรม Adobe Image Ready
                3.6  ซอฟต์แวร์ด้านงานพิมพ์ เช่น โปรแกรม Microsoft Publisher เป็นซอฟต์แวร์ที่มีเครื่องมือออกแบบสิ่งพิมพ์ให้มากมาย เช่น พิมพ์นามบัตร  บัตรอวยพร แผ่นพับ และป้ายแบบต่างๆ นิยมใช้ในงานสำนักพิมพ์ นอกจากนี้ยังสามารถนำเข้าข้อมูลจากซอฟต์แวร์อื่นๆ แล้วจัดรูปแบบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้ในงานสำนักพิมพ์ ได้แก่ โปรแกรม Adobe PageMaker
                3.7  ซอฟต์แวร์การสื่อสาร (communication software) เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ได้แก่ โปรแกรมค้นดูเว็บ (web browser) โปรแกรมจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) โปรแกรมกระดานข่าว (message board) โปรแกรมห้องคุย (chat room)
                3.8  โปรแกรมถ่ายโอนแฟ้ม เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการถ่ายโอนแฟ้มในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถ download หรือ upload แฟ้มในระบบอินเทอร์เน็ตได้ โดยใช้โปรแกรมประเภท FTP (file transfer protocol) ซึ่งเป็นเกณฑ์วิธีในการถ่ายโอนแฟ้มมาตรฐาน
โปรแกรมถ่ายโอนไฟล์
   3.9  ซอฟต์แวร์เฉพาะทาง เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาใช้เฉพาะงาน เช่น ซอฟต์แวร์ระบบบัญชี ได้แก่ บัญชีรับจ่ายรายวัน รายเดือน งบดุล  ซอฟต์แวร์ระบบสินค้าคงคลังเป็นระบบรับส่งสินค้า เก็บข้อมูลสินค้า ข้อมูลการจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ ออกใบส่งสินค้า  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น