วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประเภทและชนิดของฮาร์ดแวร์

1 ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (super computers)
                ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุด  มีสมรรถนะและประสิทธิภาพสูงที่สุด สามารถคำนวณได้มากกว่าหนึ่งล้านล้านคำสั่งต่อวินาที ( 1trillion calculations per second) รองรับการใช้งานจากผู้ใช้จำนวนมากพร้อมๆ กันได้ เรียกว่า การทำงานแบบมัลติโปรเซสซิ่ง ( multiprocessing) เป็นการประมวลผลโดยใช้หน่วยประมวลผลหลายตัว เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานพร้อมๆ กันได้หลายงาน นิยมใช้กับงานที่มีการคำนวณซับซ้อน เช่น การพยากรณ์อากาศ การวิเคราะห์สภาพอากาศและเตือนภัยจากพายุ การทดสอบทางอวกาศการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยในห้องปฏิบัติการทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน เนื่องจากเป็นเครื่องที่มีขนาดใหญ่และสมรรถนะสูงมากจึงต้องอยู่ในห้องที่มีการควบคุมอุณหภูมิและปราศจากฝุ่นละออง ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน ได้ cray supercomputer
                  2  เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (mainframe computers)
                เมนเฟรมคอมพิวเตอร์เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่รองลงมาจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์ มีหน่วยความจำและหน่วยจัดเก็บข้อมูลจำนวนมาก ใช้ในองค์กรหรือหน่วยงานขนาดใหญ่ นิยมใช้เป็นเครื่องบริการ (server) ในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องปลายทางได้มากรวมทั้งเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีด้วย ตัวอย่างเช่น ระบบเครือข่ายของธนาคาร (bank net) ซึ่งเชื่อมต่อจากศูนย์คอมพิวเตอร์ของธนาคารไปยังสำนักงานใหญ่และสาขาของธนาคารทั่วโลก รองรับข้อมูลของลูกค้าจำนวนมาก ตลอดจนควบคุมการเบิกถอนเงินจากเครื่องเอทีเอ็มทั้งหมดของธนาคารที่เชื่อมโยงถึงกันด้วยสายเช่า (lease line)


   3 มินิคอมพิวเตอร์ (mini computers)
                มินิคอมพิวเตอร์จัดเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดกลางเมื่อเทียบระหว่างเครื่องระดับเมนเฟรมและพีซีคอมพิวเตอร์ นิยมใช้เป็นเครื่องบริการเช่นเดียวกับเครื่องเมนเฟรม แต่มีสมรรถนะน้อยกว่าและราคาถูกกว่า นิยมใช้ในองค์กรขนาดกลางทั่วไป เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย

   4.ไมโครคอมพิวเตอร์ (microcomputer)
                ไมโครคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน คำว่าไมโครคอมพิวเตอร์มาจากการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำการประมวลผล โดยรวมวงจรการทำงานจำนวนมากเข้าไว้ในอุปกรณ์เล็กๆ ชิ้นเดียว (silicon chip) อุปกรณ์ชิ้นนี้มีชื่อเรียกในวงการอิเล็กทรอนิกส์ว่า ไมโครโพรเซสเซอร์ เมื่อนำมาเป็นซีพียูของคอมพิวเตอร์จึงเรียกเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับนี้ว่า ไมโครคอมพิวเตอร์
                เนื่องจากคอมพิวเตอร์ระดับนี้มีโปรแกรมอำนวยความสะดวกในการใช้งานติดตั้งไว้ให้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับเครื่องบริการก็ทำงานได้ บริษัทไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งที่ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ออกจำหน่ายในยุคแรกๆ จึงตั้งชื่อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ของบริษัทตนเองว่า PC  หรือ Personal Computer หมายถึง เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล บริษัทอื่นๆ ที่ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำงานแบบเดียวกับเครื่องของบริษัทไอบีเอ็มจึงเรียกคอมพิวเตอร์ที่ผลิตว่าเครื่องพีซีคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน และใช้คำนี้มาจนถึงปัจจุบัน
                คอมพิวเตอร์ระดับพีซีได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
               4. 1 คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (desktop computer ) เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้วางบนโต๊ะทั่วๆ ไป เครื่องส่วนมากจะแยกส่วนเป็นจอภาพ และกล่องที่บรรจุระบบเครื่อง (case) ออกจากกัน กล่องเครื่องที่วางตั้งเรียกว่า กล่องแบบ tower คอมพิวเตอร์บางรุ่นจะรวมทั้งระบบเครื่องและจอภาพไว้ที่เดียวกัน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทแอปเปิล (Apple Inc.)
                4.2 คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก (notebook computer) เป็นคอมพิวเตอร์พีซีที่มีขนาดเล็กคล้ายหนังสือแต่มีสมรรถนะเท่ากับหรือมากกว่าคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ สามารถพกพาไปใช้ในที่ต่างๆ ได้สะดวก เครื่องชนิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แล็ปท็อป (laptop computer) หรือคอมพิวเตอร์วางตักก็ได้
                4.3 คอมพิวเตอร์แบบมือถือ (handheld computer) เป็นคอมพิวเตอร์พีซีขนาดเล็กเท่ากับฝ่ามือ (palmtop computer) เก็บข้อมูลไว้ในซิปแทนฮาร์ดดิสก์ ใช้เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นๆ ผ่านระบบไร้สายได้ บางรุ่นมีแป้นพิมพ์เล็กๆ บางรุ่นไม่มีแต่ใช้ปากกาเขียนลงบนจอแทน เครื่องรุ่นใหม่ๆ เรียกว่า เครื่องพีดีเอ (PDA : personal digital assistants)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น