วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
                การจัดทำสารสนเทศจะต้องดำเนินการเป็นระบบดังนี้
         1 รวบรวมข้อมูล
                รวบรวมข้อมูลเป็นการนำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ เช่น ข้อมูลการขายของฝ่ายขาย ข้อมูลสินค้าคงเหลือจากฝ่ายสินค้าคงคลัง ข้อมูลการชำระเงินและหนี้สินจากฝ่ายบัญชีและการเงิน ข้อมูลคะแนนสอบรายวิชาของนักเรียน
        2 ประมวลผล
                นำข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมไว้มาตรวจสอบความถูกต้อง เช่น ตรวจยอดการขายของฝ่ายขายว่าตรงกับสินค้าที่เบิกจากคลังสินค้าหรือไม่ ตรวจสอบยอดรายรับและยอดคงค้างว่าตรงกับจำนวนสินค้าที่ขายไปหรือไม่
                การประมวลผลยังแบ่งตามวิธีการที่นำข้อมูลมาประมวลผล เช่น
การประมวลผงแบบเชื่อมตรง (online processing) เป็นการประมวลผงโดยตรงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ระหว่างคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์รอบข้าง หรือระหว่างคอมพิวเตอร์กับคอมพิวเตอร์ด้วยกัน เช่น การสั่งพิมพ์ทางเครื่องพิมพ์ การฝากถอนเงินจากเครื่องเอทีเอ็ม การจองตั๋วเครื่องบิน
                การประมวลผลแบบกลุ่ม  (batch processing) เป็นการประมวลผลโดยการรวบรวมข้อมูลเป็นครั้งคราว เช่น การสำรวจความนิยมที่เรียกว่า โพล (poll) จะทำการสำรวจโดยสุ่มตัวอย่างจากลุ่มผู้สนใจหลายๆ กลุ่มแล้วนำข้อมูลมาประมวลผลตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพื่อสรุปเป็นผลหรือคำตอบออกมา
        3 สารสนเทศ
                สารสนเทศเป็นการนำข้อมูลที่ประมวลผลแล้วมาสรุปเป็นผลลัพธ์ เช่น ยอดการจำหน่ายสินค้ารายวัน รายสัปดาห์และรายเดือน เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการตลาด บัญชี รับ-จ่าย นำมาจัดทำเป็นงบการเงิน
                สรุปขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้เกิดสารสนเทศขึ้นมามีดังนี้
                3.1  รวบรวมข้อมูล (data collection) โดยการจดบันทึก สอบถามโดยตรง หรือส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มเป้าหมายให้กรอกข้อความหรือทำเครื่องหมายลงในแบบสอบถาม
                3.2  ตรวจสอบ (check) ทำการตรวจสอบข้อมูลว่ามีความถูกต้องหรือไม่ ถ้ามีข้อบกพร่องต้องแก้ไขหรือรวบรวมใหม่ ข้อมูลที่ถูกต้องทำให้สารสนเทศมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
                3.3  เข้ารหัสข้อมูล (coding) ข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วนำมาเข้ารหัสแบ่งเป็นกลุ่มๆ ตามประเภทของข้อมูลแล้วรวมไว้เป็นแฟ้มข้อมูล
                3.4  จัดเรียงข้อมูล (sorting) เรียงลำดับข้อมูลใหม่เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการค้นหาหรืออ้างอิงในภายหลัง
                3.5 คำนวณ (calculate) ข้อมูลที่เป็นตัวเลขต้องกำหนดสูตรและฟังก์ชันให้ทำการคำนวณ เช่น การหาค่าเฉลี่ย หาผลรวม หาจุดคุ้มทุน
                3.6  การทำรายงาน (report)  สรุปผลจากการประมวลผลออกมาเป็นรายงานที่ตรงกับความต้องการใช้ในแต่ละงาน รายงานเป็นวิธีจัดรูปแบบข้อมูลของสารสนเทศ
                3.7  จัดเก็บ บันทึกข้อมูลไว้ในอุปกรณ์จัดเก็บ
                3.8.  ทำสำเนา ข้อมูลหรือสารสนเทศที่เก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ควรทำสำเนาไว้เพื่อป้องกันการเสียหายของข้อมูลหลัก เช่น ทำสำเนาไว้ในแผ่นซีดีรอม
                 3.9.  แจกจ่ายและสื่อสารข้อมูล นอกจากการทำสารสนเทศเพื่อปรับปรุงระบบงานแล้วยังใช้สารสนเทศในการประชาสัมพันธ์สินค้าหรือหน่วยงานได้เป็นอย่างดี การแจกจ่ายสารสนเทศนอกจากการพิมพ์เป็นเอกสารแล้วยังสามารถส่งไปไว้ในระบบอินเทอร์เน็ต และเชื่อมโยง (link) ไว้กับเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าไปชมมากๆ ได้
  • คำศัพท์ประจำหน่วย
คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศ

Efficiency
ประสิทธิภาพ
Flexibility
ความยืดหยุ่น
Good Goverment
ธรรมภิบาล
Labour
กลุ่มผู้ใช้แรงงาน
Intellectual
กลุ่มผู้มีความรู้
Management Sciener
วิทยาการจัดการ
Computer Sciener
วิทยาการจัดการคอมพิวเตอร์
Operation Research
การวิจัยดำเนินการ
Psychology
จิตวิทยา
Sociology
สังคมวิทยา
Economic
เศรษฐศาสตร์
System Analyst
นักวิเคราะห์ระบบ
Database Administrator
วิศวกรสื่อสาร
Programmer
นักโปรแกรม
Operator
พนักงานปฏิบัติการ
System Programmer
นักโปรแกรมระบบ
Investment
การลงทุน
Information
สารสนเทศ
Industrial Person
บุคคลที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม
Specialised Person
บุคคลที่มีความสามารถเฉพาะทาง
Foundation Person
บุคคลที่ทำงานเป็นรากฐาน
ICT Embedded Person
บุคคลที่มีการใช้ ICT เพื่อการทำงาน
Technical Approach
แนวทางด้านเทคนิค
Behavioral Approach
แนวทางด้านพฤติกรรม
Sociotechnical Approach
แนวทางผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและสังคม


  • กิจกรรมประจำหน่วย
กิจกรรมของระบบสารสนเทศพื้นฐานมี 3 ชนิด คือ Input , Process และ Output การทำงานจะเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนข้อมูลดิบที่เข้ามาทางด้าน Input โดยผ่านการประมวลผลหรือการกลั่นกรองให้เป็นสารสนเทศที่ออกมาทาง Output ผลลัพธ์ที่ได้จาก Output จะย้อนกลับไปยัง Input เพื่อให้มีการประเมินผลการทำงานต่อไป

บุคลากร

บุคลากร (peopleware)
ในที่นี้ หมายถึง ผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น พนักงานเก็บเงินในห้างร้านที่ใช้เครื่องเก็บเงิน พนักงานธนาคาร ลูกค้าธนาคาร ผู้ใช้เครื่องเอทีเอ็ม พนักงานข้อมูล ผู้ดูแลรักษาระบบสารสนเทศ เจ้าหน้าที่พัฒนาระบบ โปรแกรมเมอร์ ตลอดจนนักวิเคราะห์ระบบ เครื่องเก็บเงินที่ใช้ในห้างร้านมีระบบเชื่อมต่อกับศูนย์คอมพิวเตอร์ของบริษัท ซึ่งเป็นเครื่องบริการที่มีโปรแกรมระบบบัญชีและคลังสินค้าตลอดจนข้อมูลของสินค้าทั้งหมดอยู่ เมื่อพนักงานในแต่ละสาขาบันทึกการจำหน่ายสินค้าในเครื่องเก็บเงิน ข้อมูลของสินค้าจะถูกส่งไปตัดยอดจำนวนสินค้าในคลังสินค้าของเครื่องบริการทำให้ทราบได้ว่า สาขาใดจำหน่ายสินค้าชนิดใดได้มาก และมีสินค้าใดที่ใกล้หมด ศูนย์บริการสามารถสั่งให้ฝ่ายคลังสินค้าจัดส่งสินค้าไปยังแต่ละสาขาได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม พนักงานข้อมูล ทำหน้าที่จัดเตรียมข้อมูล แปลงข้อมูลจากเอกสารให้เป็นรูปแบบที่คอมพิวเตอร์รับรู้ได้ บันทึกข้อมูลลงสื่อจัดเก็บต่างๆ ผู้ดูแลรักษาระบบสารสนเทศ ทำหน้าที่ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ให้อยู่สภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา นอกจากนี้ยังต้องดูแลและปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ โปรแกรมเมอร์ ทำหน้าที่เขียนและพัฒนาโปรแกรมตามความต้องการของนักวิเคราะห์ระบบ นักวิเคราะห์ระบบ ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าหรือของหน่วยงาน เพื่อกำหนดแนวทางให้โปรแกรมเมอร์พัฒนาโปรแกรมให้ตรงความต้องการของผู้ใช้ที่สุด นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ถึงความต้องการใช้ทรัพยากรอื่นๆ เช่น ระบบเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ

ข้อมูล

ข้อมูล (data)
            หมายถึง ข้อเท็จจริงที่สื่อความหมายในรูปของข้อความ ตัวเลข สัญลักษณ์ หรือรายละเอียดในรูปอื่นๆ ที่สัมผัสได้ เช่น ภาพ เสียง ภาพยนตร์ วีดีทัศน์ ข้อมูลเป็นข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วยเวลาหนึ่ง  เช่น ข้อมูลของพนักงานในบริษัทที่ทำงานอยู่ในขณะนั้น ข้อมูลของนักศึกษาในโรงเรียนหรือวิทยาลัย ข้อมูลของสินค้าในคลังสินค้า ข้อมูลการจำหน่ายสินค้า ข้อมูลยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
                ข้อมูลปฐมภูมิ (primary data) เป็นข้อมูลที่รวบรวมจากแหล่งข้อมูลโดยตรง เช่น จากการจดบันทึก จากการสำรวจ การสอบถาม จากการอ่านรหัสแท่งของเครื่องเก็บเงิน
                ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) เป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมไว้ก่อนหน้าแล้ว เช่น สถิติจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถนำไปประมวลผลต่อได้ทันที
                นอกจากนี้ยังแบ่งข้อมูลตามรูปแบบที่รับเข้ามาเป็น
             1 ข้อมูลตัวอักขระ (character data)
                ข้อมูลอักขระเป็นข้อมูลที่ใช้คำนวณไม่ได้ เมื่อสั่งให้นำข้อมูลชนิดตัวอักขระมาบวกกันจะได้ผลเป็นข้อมูลที่ต่อกัน ข้อมูลชนิดนี้ ได้แก่ ตัวอักษรของภาษาต่างๆ สายอักขระ หรือ string เป็นข้อมูลที่ประกอบด้วยตัวอักษรหลายๆ ตัวรวมกัน เช่น ชื่อ – นามสกุล ของแต่ละคน หมายเลขโทรศัพท์
             2 ข้อมูลชนิดข้อความ (text data)
                ข้อมูลชนิดข้อความเป็นข้อมูลตัวอักขระจำนวนมากๆ เช่น บทความ ข้อเขียน ข่าวในหนังสือพิมพ์
             3 ข้อมูลตัวเลข (numeric data)
                ข้อมูลตัวเลขเป็นข้อมูลที่นำมาคำนวณได้ เช่น ตัวเลขต่างๆ เช่น เลขจำนวนเต็ม (integer) เป็นเลขที่ไม่มีทศนิยมมีค่าระหว่า -65,535 ถึง 65,536 เลขจำนวนจริง (single หรือ double) เป็นเลขที่มีทศนิยม ข้อมูลการเงิน (currency) แสดงตัวเลขในรูปแบบเงินของประเทศต่างๆ
             4 ข้อมูลภาพ (image data)
                ข้อมูลภาพ ได้แก่ รูปภาพต่างๆ ที่นำเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ มีหลายชนิด เช่น ภาพชนิดบิตแม็บ (bitmap *.bmp) เป็นภาพพื้นฐานของระบบวินโดวส์ เช่น ภาพที่สร้างจากโปรแกรม Paint  ของวินโดวส์
                ภาพชนิด JPEG หรือ .jpg (joint photographic expert group) เป็นแฟ้มที่ถูกบีบอัดมาจากภาพต้นแบบให้เป็นรูปแบบที่กระชับมากขึ้น ทำให้ขนาดของแฟ้มภาพเล็กลงส่งไปในระบบเครือข่ายได้ง่าย เป็นอีกมาตรฐานหนึ่งในระบบอินเทอร์เน็ต และสามารถใช้ระบบสีได้มากกว่าล้านสี เป็นภาพที่ถูกกำหนดให้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเท่านั้น
                PCD (photo CD) เป็นรูปแบบที่สร้างโดยบริษัทโกดัก แฟ้มชนิดนี้จะรวมขนาดของภาพที่แตกต่างกันไว้ในภาพถ่ายแต่ละภาพ
                ภาพชนิด TIFF (tagged image file format) เป็นแฟ้มภาพที่ใช้งานได้กว้างขวางซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่จะรับแฟ้มภาพชนิดนี้ได้ แม้กระทั้งในโปรแกรมประมวลคำ (word processor)  และยังใช้ข้ามระบบปฏิบัติการได้ เช่น ใช้กับระบบปฏิบัติการของแมค พีซี และ ยูนิกซ์
                ภาพชนิด GIF (graphics interchange format) บริษัท CompuServe สร้างแฟ้มชนิดนี้สำหรับเก็บภาพบิตแม็บในเว็บ และเป็นมาตรฐานหนึ่งใน 2 ระบบที่ใช้บนเครือข่ายโดยไม่ต้องติดตั้งระบบไว้ล่วงหน้า แต่ภาพชนิดนี้ใช้ระบบสีเพียง 256 สี และเป็นภาพที่เลือกให้เป็นแบบฉากหลังโปร่งได้ (transparent)
                สีในจอคอมพิวเตอร์เกิดจากการผสมของแม่สีทางแสงคือ สีแดง (red) สีเขียว (green) และน้ำเงิน (blue) เป็นจุดสีจุดเล็กๆ เรียงติดกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 สีเรียกว่า พิกเซล (pixel : picture element) หรือจุดภาพ
การผสมสีของจุดแสง
                สีของพิกเซลบนจอภาพของคอมพิวเตอร์ถูกกำหนดเป็นตารางตามวิธีทางคณิตศาสตร์เรียกว่า palettes ความคมชัดของแต่ละสีขึ้นอยู่กับจำนวนบิตที่เก็บข้อมูลสีของแต่ละพิกเซลที่ระดับสี 24 bit true color แม่สีแต่ละสีจะแบ่งตามระดับความสว่างของสีตั้งแต่ 0 ถึง 256 ระดับ รวมทั้ง 3 สีจะได้ RGB เท่ากับ 256 × 256 × 256  = 16,777,216  สี ถ้ากำหนดค่าทั้ง 3 สีเป็น 0, 0, 0 จะได้สีดำ และเมื่อกำหนดเป็น 256, 256, 256 ทั้ง 3 สี จะได้สีขาว
                ตารางแสดงจำนวนบิตของสี
Bit depthNo. of colors
1 bit2
2 bits4
4 bits16
8 bits256


            5 ข้อมูลเสียง (audio)
                เสียงเป็นข้อมูลที่สำคัญในการนำเสนอด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน การใช้เสียงในมัลติมีเดียแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
                1. เสียงบรรยาย ใช้เล่าเรื่องราวต่างๆ หรือบรรยายความหมายของภาพและข้อความในฉาก
                2. เสียงประกอบ เช่น เสียงนกร้อง เสียงดนตรี ใช้กำหนดอารมณ์ของผู้ฟังหรือใช้เป็นเครื่องมือเสริมความสนใจของข่าวสารในมัลติมีเดีย ไม่เชื่อมโยงโดยตรงกับเนื้อหาของเรื่องส่วนใหญ่จะใช้เสียงดนตรีเป็นเสียงประกอบ
                แฟ้มเสียงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์มีหลายชนิด เช่น *.wav  *.midi *.mp3
รูป การเลือกแฟ้มเสียง
             6 ข้อมูลวีดิทัศน์ (video)
                ข้อมูลวีดิทัศน์ ได้แก่ ภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหว แฟ้มภาพยนตร์ที่บันทึกไว้ในรูปแบบของวินโดวส์ ได้แก่ แฟ้มชนิด .wmv (windows media audio/video file) หรือชนิด movie clip (.mpg) ส่วนภาพเคลื่อนไหวนิยมบันทึกในรูปแบบ .gif  ซึ่งต้องนำเสนอในซอฟต์แวร์ประเภทนำเสนอ

ซอฟต์แวร์

ซอฟต์แวร์
       โปรแกรมที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ แบ่งตามหน้าที่และการทำงานได้หลายประเภท ดังนี้ 
 1.ซอฟต์แวร์ระบบ (system  software)
ซอฟต์แวร์ระบบเป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ทั้งหมดในเครื่องให้ติดต่อถึงกันได้ รวมทั้งระบบปฏิบัติการด้วย เมื่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์จะตรวจสอบการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังส่วนต่างๆ ของระบบเรียกว่า การโพสต์ (POST : power on self test ) เมื่อระบบพร้อมจะอ่านโปรแกรมของระบบที่บันทึกไว้ในหน่วยความจำรอม เรียกว่า ROM – BIOS ( basic input output system)  จะตรวจสอบระบบอุปกรณ์พื้นฐานที่ติดตั้งไว้ เช่น แผงแป้นอักขระ เมาส์ เครื่องพิมพ์ จอภาพ ถ้าระบบพร้อมก็จะอ่านโปรแกรมระบบปฏิบัติการ (operating system หรือ OS) ที่เขียนไว้ในแผ่นจานข้อมูล (disk) เข้ามาในหน่วยความจำแรมแล้วเริ่มการทำงาน
          2.ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ
                ระบบปฏิบัติการจัดเป็นโปรแกรมแรกที่คอมพิวเตอร์อ่านจากหน่วยความจำรองเข้ามาในหน่วยความจำหลักโดยเปรียบเทียบกับโปรแกรมไบออส ระบบปฏิบัติการได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและมีหลายระบบได้แก่
                2.1 ระบบปฏิบัติการแบบดอส เป็นโปรแกรมระบบปฏิบัติการรุ่นแรกๆ ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เริ่มพัฒนาโดยบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ เรียกว่า แอปเปิลดอส ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แอปเปิลซึ่งพัฒนามาเป็นแมคอินทอส ต่อมาบริษัทไอบีเอ็มพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ออกมาแข่งกับเครื่องแอปเปิลเรียกว่า เครื่องพีซีคอมพิวเตอร์ ( PC : personal computer) และว่าจ้างบริษัทไมโครซอฟต์พัฒนาระบบปฏิบัติการขึ้นมา เรียกว่า ไอบีเอ็มดอส ต่อมาบริษัทไมโครซอฟต์พัฒนาระบบปฏิบัติการของตนเองขึ้นมาใหม่ตั้งชื่อว่า เอ็มเอส-ดอส (MS-DOS) และจำหน่ายให้กับผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป คำว่า ดอส (DOS) ย่อมาจาก disk operating system ระบบปฏิบัติการแบบดอสเป็น text mode การสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานต้องพิมพ์คำสั่งให้ถูกต้องตามวากยสัมพันธ์ (syntax) ของระบบ การแสดงผลบนจอภาพเป็นข้อความส่วนกราฟิกต้องใช้โปรแกรมเฉพาะในการสร้างภาพและยังเป็นภาพที่มีความละเอียดต่ำ (low resolutions) ในวินโดวส์ XP สามารถออกไปยังดอสโหมดได้โดยคลิกที่ปุ่ม Start >Run แล้วพิมพ์ CMD ในกล่อง คลิกปุ่ม OK กลับสู่วินโดวส์โดยพิมพ์คำสั่ง EXIT
               2.2 ระบบปฏิบัติการแบบวินโดวส์ (Windows) เมื่อมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์พีซีมากขึ้นประกอบกับระบบเครื่องได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะสูงขึ้น บริษัทไมโครซอฟต์จึงพัฒนาระบบปฏิบัติการแบบดอสเป็นระบบปฏิบัติการแบบวินโดวส์ (คำว่าวินโดวส์เป็นชื่อเฉพาะของโปรแกรมเหมือนการเรียกชื่อคน ไม่ได้แปลว่าหน้าต่างหลายบาน) เปลี่ยนจากการพิมพ์คำสั่งเป็นรูปเล็กๆ แทนคำสั่งวางบนจอแรกของระบบ (desktop) เรียก สัญรูป หรือ icon ผู้ใช้เพียงกดคลิก คลิก ที่สัญรูปเหล่านั้นก็สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ทันที จัดเป็นระบบปฏิบัติการแบบกุย (GUI : Graphical User Interface)
                2.3 ระบบปฏิบัติการแบบ MAC เป็นระบบปฏิบัติการที่บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์พัฒนาต่อจากแอปเปิลดอสมาใช้กับเครื่องแมคอินทอส เรียกว่า MAC OS
ระบบปฏิบัติการแบบ MAC
                2.4 ระบบปฏิบัติการแบบยูนิกซ์ (UNIX) เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยเบลล์ของบริษัท AT&T ในสหรัฐอเมริกา เป็นระบบปฏิบัติการที่ประกอบขึ้นจากโปรแกรมย่อยๆ ที่ทำงานเฉพาะเรื่อง ระบบปฏิบัติการนี้ได้เผยแพร่รหัสต้นฉบับ (source code) ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในราคาถูก ทำให้มีผู้ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมนี้จนมีความสามารถในการทำงานที่หลากหลายรวมเป็นระบบที่มีสมรรถนะในการทำงานสูงมาก ใช้ในเครื่องระดับเมนเฟรม มินิคอมพิวเตอร์และ ไมโครคอมพิวเตอร์ระบบใหญ่ๆ
                2.5 ระบบปฏิบัติการแบบลินุกซ์ (LINUX) พัฒนาโดย Linus Torvalds นักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิด (open system) ที่เผยแพร่โปรแกรมต้นฉบับให้แก่ผู้ซื้อด้วย ทำให้มีผู้พัฒนาเป็นลินุกซ์รุ่นต่างๆ มากมาย เช่น ลินุกซ์ทะเล พัฒนาโดยสถาบันอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือ NECTEC ระบบลินุกซ์เป็นระบบปฏิบัติการแบบกุยเช่นเดียวกับไมโครซอฟต์วินโดวส์
         3.ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (application package program)
                ซอฟต์แวร์ประยุกต์เป็นซอฟต์แวร์สำเร็จที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ใช้งานง่ายขึ้น ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิชาคอมพิวเตอร์มาก่อนก็ใช้งานได้ โดยการทำตามคู่มือที่ให้มากับโปรแกรมโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้ในงานสำนักงานเรียกว่า โปรแกรมสำนักงาน ประกอบด้วยโปรแกรม ต่างๆ ดังนี้
                3.1  ซอฟต์แวร์ประมวลคำ (word processing) เป็นซอฟต์แวร์สำหรับงานพิมพ์เอกสารที่สามารถตรวจแก้บนจอภาพก่อนพิมพ์ทางเครื่องพิมพ์ได้ ตัดคำอัตโนมัติ และมีพจนานุกรมตรวจการสะกดคำให้อย่างอัตโนมัติ แทรกภาพและวัตถุลงในเอกสารได้ วัตถุที่แทรกเช่น Microsoft Equation สำหรับพิมพ์สมการทางคณิตศาสตร์ เลือกแบบอักษรตัวยก (super script ) สำหรับพิมพ์เลขยกกำลัง และตัวห้อย (sub script) สำหรับพิมพ์สมการเคมีได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีเมนูจดหมายเวียนสำหรับสร้างเอกสารส่งให้ผู้รับได้หลายๆ คนในฉบับเดียวกัน
                3.2  ซอฟต์แวร์ตารางทำการ (spread sheet) เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการคำนวณ เช่น การทำบัญชีเบื้องต้น การทำตารางสถิติต่างๆ ตัวซอฟต์แวร์เหมือนสมุดงาน (work book) ขนาดใหญ่ที่มีกระดาษทำการ (work sheet) ให้จำนวนมาก กระดาษแต่ละแผ่นถูกขีดเส้นตามแนวตั้งและแนวนอนออกเป็นตาราง แต่ละช่องของตารางเรียกว่า เซลล์ (cell) แต่ละเซลล์มีชื่อกำกับตามคอลัมน์และแถว ทำให้สั่งการคำนวณได้ มีฟังก์ชันด้านต่างๆ ให้เลือกใช้มากมายสามารถเปลี่ยนชุดข้อมูลเป็นแผนภูมิได้อย่างรวดเร็ว สามารถคัดลอกข้อมูล สูตร และฟังก์ชันจากเซลล์หนึ่งไปวางในเซลล์อื่นๆ ที่มีการทำงานอย่างเดียวกันได้
                3.3  ซอฟต์แวร์ระบบฐานข้อมูล (database management system) หรือ DBMS เป็นซอฟต์แวร์จัดการกับฐานข้อมูล ใช้เก็บข้อมูลเป็นระเบียนข้อมูล (record) ที่กำหนดขนาดและชนิดของเขตข้อมูล (field) ได้ สามารถจัดเรียงข้อมูล ค้นหา สร้าง และออกแบบรายงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลจะเก็บข้อมูลในรูปของตารางข้อมูล (table) ที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ในแฟ้มเดียวกัน เช่น ตารางประวัติส่วนตัวของนักเรียนเก็บข้อมูลเลขประจำตัว ชื่อ นามสกุล และอื่นๆ ตารางผลการเรียนของนักเรียน เก็บเลขประจำตัวและผลการเรียนวิชาต่างๆ เมื่อต้องการสืบค้นข้อมูล เพียงแต่ใส่เลขประจำตัวนักเรียนลงในโปรแกรมก็สามารถแสดงชื่อ นามสกุล และผลการเรียนแต่ละรายวิชาได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเปิดแฟ้มทีละแฟ้ม ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลที่นิยมใช้มีหลายโปรแกรม เช่น ไมโครซอฟต์แอกเซส (Microsoft Access) ออราเคิล (Oracle) มายเอสคิวแอล (My SQL)
                3.4  ซอฟต์แวร์นำเสนอ (presentation) เป็นซอฟต์แวร์ที่เพิ่มเข้ามาในยุคของวินโดวส์ใช้ในการนำเสนอข้อมูล ตัวซอฟต์แวร์ประกอบด้วยภาพนิ่ง (slide) ที่สามารถแทรกเพิ่มได้ภายในภาพนิ่งใช้แทรกข้อความ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์  และสามารถบันทึกเสียงลงได้นำเสนอภาพนิ่งต่อเนื่องเป็นเรื่องได้ดี ในวงการธุรกิจใช้นำเสนอขายสินค้าที่มีทั้งภาพสินค้าและรายละเอียดของสินค้าแต่ละรายการ ใช้นำเสนอสถิติการขาย สถิติการผลิต ในรูปของภาพข้อความและแผนภูมิ ด้านการศึกษาใช้สร้างสื่อประกอบการเรียนการสอนวิชาต่างๆ
                3.5  ซอฟต์แวร์กราฟิกและมัลติมีเดีย (graphics and multimedia software) เป็นโปรแกรมที่ใช้ออกแบบและวาดภาพ หรือใช้ตกแต่งภาพที่มีอยู่เดิม เช่น โปรแกรม Paint โปรแกรม Microsoft Picture Manager โปรแกรม Adobe Photoshop  นอกจากนี้ยังสามารถนำภาพที่ตกแต่งแล้วไปสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหว เช่น โปรแกรม Windows Movies Maker โปรแกรม Adobe Image Ready
                3.6  ซอฟต์แวร์ด้านงานพิมพ์ เช่น โปรแกรม Microsoft Publisher เป็นซอฟต์แวร์ที่มีเครื่องมือออกแบบสิ่งพิมพ์ให้มากมาย เช่น พิมพ์นามบัตร  บัตรอวยพร แผ่นพับ และป้ายแบบต่างๆ นิยมใช้ในงานสำนักพิมพ์ นอกจากนี้ยังสามารถนำเข้าข้อมูลจากซอฟต์แวร์อื่นๆ แล้วจัดรูปแบบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้ในงานสำนักพิมพ์ ได้แก่ โปรแกรม Adobe PageMaker
                3.7  ซอฟต์แวร์การสื่อสาร (communication software) เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ได้แก่ โปรแกรมค้นดูเว็บ (web browser) โปรแกรมจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) โปรแกรมกระดานข่าว (message board) โปรแกรมห้องคุย (chat room)
                3.8  โปรแกรมถ่ายโอนแฟ้ม เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการถ่ายโอนแฟ้มในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถ download หรือ upload แฟ้มในระบบอินเทอร์เน็ตได้ โดยใช้โปรแกรมประเภท FTP (file transfer protocol) ซึ่งเป็นเกณฑ์วิธีในการถ่ายโอนแฟ้มมาตรฐาน
โปรแกรมถ่ายโอนไฟล์
   3.9  ซอฟต์แวร์เฉพาะทาง เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาใช้เฉพาะงาน เช่น ซอฟต์แวร์ระบบบัญชี ได้แก่ บัญชีรับจ่ายรายวัน รายเดือน งบดุล  ซอฟต์แวร์ระบบสินค้าคงคลังเป็นระบบรับส่งสินค้า เก็บข้อมูลสินค้า ข้อมูลการจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ ออกใบส่งสินค้า  

ประเภทและชนิดของฮาร์ดแวร์

1 ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (super computers)
                ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุด  มีสมรรถนะและประสิทธิภาพสูงที่สุด สามารถคำนวณได้มากกว่าหนึ่งล้านล้านคำสั่งต่อวินาที ( 1trillion calculations per second) รองรับการใช้งานจากผู้ใช้จำนวนมากพร้อมๆ กันได้ เรียกว่า การทำงานแบบมัลติโปรเซสซิ่ง ( multiprocessing) เป็นการประมวลผลโดยใช้หน่วยประมวลผลหลายตัว เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานพร้อมๆ กันได้หลายงาน นิยมใช้กับงานที่มีการคำนวณซับซ้อน เช่น การพยากรณ์อากาศ การวิเคราะห์สภาพอากาศและเตือนภัยจากพายุ การทดสอบทางอวกาศการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยในห้องปฏิบัติการทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน เนื่องจากเป็นเครื่องที่มีขนาดใหญ่และสมรรถนะสูงมากจึงต้องอยู่ในห้องที่มีการควบคุมอุณหภูมิและปราศจากฝุ่นละออง ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน ได้ cray supercomputer
                  2  เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (mainframe computers)
                เมนเฟรมคอมพิวเตอร์เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่รองลงมาจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์ มีหน่วยความจำและหน่วยจัดเก็บข้อมูลจำนวนมาก ใช้ในองค์กรหรือหน่วยงานขนาดใหญ่ นิยมใช้เป็นเครื่องบริการ (server) ในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องปลายทางได้มากรวมทั้งเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีด้วย ตัวอย่างเช่น ระบบเครือข่ายของธนาคาร (bank net) ซึ่งเชื่อมต่อจากศูนย์คอมพิวเตอร์ของธนาคารไปยังสำนักงานใหญ่และสาขาของธนาคารทั่วโลก รองรับข้อมูลของลูกค้าจำนวนมาก ตลอดจนควบคุมการเบิกถอนเงินจากเครื่องเอทีเอ็มทั้งหมดของธนาคารที่เชื่อมโยงถึงกันด้วยสายเช่า (lease line)


   3 มินิคอมพิวเตอร์ (mini computers)
                มินิคอมพิวเตอร์จัดเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดกลางเมื่อเทียบระหว่างเครื่องระดับเมนเฟรมและพีซีคอมพิวเตอร์ นิยมใช้เป็นเครื่องบริการเช่นเดียวกับเครื่องเมนเฟรม แต่มีสมรรถนะน้อยกว่าและราคาถูกกว่า นิยมใช้ในองค์กรขนาดกลางทั่วไป เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย

   4.ไมโครคอมพิวเตอร์ (microcomputer)
                ไมโครคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน คำว่าไมโครคอมพิวเตอร์มาจากการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำการประมวลผล โดยรวมวงจรการทำงานจำนวนมากเข้าไว้ในอุปกรณ์เล็กๆ ชิ้นเดียว (silicon chip) อุปกรณ์ชิ้นนี้มีชื่อเรียกในวงการอิเล็กทรอนิกส์ว่า ไมโครโพรเซสเซอร์ เมื่อนำมาเป็นซีพียูของคอมพิวเตอร์จึงเรียกเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับนี้ว่า ไมโครคอมพิวเตอร์
                เนื่องจากคอมพิวเตอร์ระดับนี้มีโปรแกรมอำนวยความสะดวกในการใช้งานติดตั้งไว้ให้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับเครื่องบริการก็ทำงานได้ บริษัทไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งที่ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ออกจำหน่ายในยุคแรกๆ จึงตั้งชื่อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ของบริษัทตนเองว่า PC  หรือ Personal Computer หมายถึง เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล บริษัทอื่นๆ ที่ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำงานแบบเดียวกับเครื่องของบริษัทไอบีเอ็มจึงเรียกคอมพิวเตอร์ที่ผลิตว่าเครื่องพีซีคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน และใช้คำนี้มาจนถึงปัจจุบัน
                คอมพิวเตอร์ระดับพีซีได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
               4. 1 คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (desktop computer ) เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้วางบนโต๊ะทั่วๆ ไป เครื่องส่วนมากจะแยกส่วนเป็นจอภาพ และกล่องที่บรรจุระบบเครื่อง (case) ออกจากกัน กล่องเครื่องที่วางตั้งเรียกว่า กล่องแบบ tower คอมพิวเตอร์บางรุ่นจะรวมทั้งระบบเครื่องและจอภาพไว้ที่เดียวกัน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทแอปเปิล (Apple Inc.)
                4.2 คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก (notebook computer) เป็นคอมพิวเตอร์พีซีที่มีขนาดเล็กคล้ายหนังสือแต่มีสมรรถนะเท่ากับหรือมากกว่าคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ สามารถพกพาไปใช้ในที่ต่างๆ ได้สะดวก เครื่องชนิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แล็ปท็อป (laptop computer) หรือคอมพิวเตอร์วางตักก็ได้
                4.3 คอมพิวเตอร์แบบมือถือ (handheld computer) เป็นคอมพิวเตอร์พีซีขนาดเล็กเท่ากับฝ่ามือ (palmtop computer) เก็บข้อมูลไว้ในซิปแทนฮาร์ดดิสก์ ใช้เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นๆ ผ่านระบบไร้สายได้ บางรุ่นมีแป้นพิมพ์เล็กๆ บางรุ่นไม่มีแต่ใช้ปากกาเขียนลงบนจอแทน เครื่องรุ่นใหม่ๆ เรียกว่า เครื่องพีดีเอ (PDA : personal digital assistants)

ฮาร์ดแวร์

หมายถึง อุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ มีลักษณะเป็นโครงร่างสามารถมองเห็นด้วยตาและสัมผัสได้ (รูปธรรม) เช่น จอภาพ คีย์บอร์ด เครื่องพิมพ์ เมาส์ เป็นต้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ตามลักษณะการทำงาน ได้ 4 หน่วย คือ หน่วยรับข้อมูล (Input Unit) หน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit : CPU)  หน่วยแสดงผล (Output Unit) หน่วยเก็บข้อมูลสำรอง (Secondary Storage) โดยอุปกรณ์แต่ละหน่วยมีหน้าที่การทำงานแตกต่างกัน  ดังภาพ